ลัทธินิยมขบวนการ นิยมก่นด่า และ นิยมผู้วิเศษ

Emanuel Pastreich
2 min readSep 15, 2022

ลัทธินิยมขบวนการ นิยมก่นด่า และ นิยมผู้วิเศษ

เอ็มมานูเอล แพสไทร๊ค์

ผู้สมัครอิสระการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

16 พฤษภาคม 2563

ดังที่อัตราการล่มสลายทางเศรษฐกิจ สถาบัน และวัฒนธรรมของสหรัฐอเมริกานั้นเพิ่มสูงขึ้น แทบทุกคนสามารถสัมผัสได้ถึงความผิดปกติร้ายแรงบางอย่างในของประเทศเรา ที่บรรดาหนังสือพิมพ์และสถานีโทรทัศน์ต่างก็ไร้ความสามารถที่จะทำอะไรได้ ดูเหมือนพวกเรานั้นไร้พลังที่จะหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงประเทศให้กลายเป็นดินแดนอันแห้งแร้งทางจริยธรรม ถูกลดทอนสถานะไปเป็นผู้ทำงานรับใช้แก่พวกคนมีอำนาจเพียงไม่กี่คน

แต่ทำไมล่ะ? ถ้าหลายคนก็ตระหนักรู้อยู่แล้วถึงความแตกต่างสุดขั้วในวัฒนธรรมของพวกเรา ของความเกลียดชังภายใต้หน้ากากเหล่านั้น ทำไมเราถึงเป็นอัมพาตทำอะไรไม่ได้เลยเช่นนี้? ทำไมเราถึงเชื่อเป็นจริงเป็นจังเหลือเกินว่าจะไม่สามารถทำอะไรได้? ทำไมหนุ่มสาวอเมริกันหลายคนถึงมีปัญหากับการจัดตั้งกลุ่มก้อนขึ้น ทำไมถึงมีปัญหากับการรวมพลังสำหรับมุ่งมั่นสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคม หรือทำงานร่วมกับคนในชุมชนเพื่อสร้างสังคมที่ดีกว่าเดิม?

มีหลายเหตุผลด้วยกันที่ทำให้เป็นอัมพาตนี้ เราถูกดูดดึงให้เข้าไปในวัฒนธรรมบริโภคอันยั่วยวน ที่สร้างขึ้นมาโดยบริษัทโฆษณายาวนานกว่าเจ็ดสิบปี อ่างอาบน้ำน่าสะอิดสะเอียนนั้นได้ริบถอดพลังอำนาจของพวกเราในฐานะพลเมืองไปเสียแล้ว ทำให้เรากลายเป็นผู้บริโภคภาพลักษณ์และอารมณ์ความรู้สึก

เรานั่งดูผู้มีอำนาจในทีวีพูดถึงสารพัดเรื่อง ยกเว้นสิ่งที่สำคัญจำเป็นต่อประเทศ ประหนึ่งว่านั่นเป็นส่วนหนึ่งของมหกรรมงานรื่นเริงอันน่าขนลุก

คงจะพอพูดได้ว่าประเทศของเรานั้น เจ็บปวดทรมานจากบาดแผลของความเดือดร้อนเมื่อยี่สิบปีที่ผ่านมาก่อนที่มันกลายเปลี่ยนไปเป็นแผลร้ายเรื้อรัง ทว่าแทนที่จะมีความกล้าหาญพอที่จะตัดนิ้วที่ติดเชื้อและหยุดการเน่าเปื่อย เรากลับปกปิดมันด้วยผ้าพันแผล และปล่อยให้พิษร้ายนั้นไหลผ่านเข้าไปในเส้นเลือด เราทำเป็นไม่เห็น ทำเป็นไม่ได้ยิน จนกระทั่งการติดเชื้อนั้นได้เล็ดรอดเข้าไปแล้วในองคาพยพทางการเมือง

นั่นแหละคือสิ่งที่เรากำลังเป็นกันอยู่ สำหรับคนที่ยังมีงานทำ ท่านยังสามารถเดินเข้าไปในร้านสตาร์บัคส์และร่วมสนทนารื่นเริงกับเพื่อนสหาย พูดจาถึงเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของคนในครอบครัวได้

ทว่าพวกเราส่วนใหญ่กลับต้องย้อนไปอยู่กับวันอันยาวนานที่จะต้องพยายามทำอะไรสักอย่าง จะเป็นอะไรก็ได้ ทำงานแต่กลับไม่ได้รับค่าจ้างที่เหมาะสม เราแทบที่จะไม่มีเรี่ยวแรงเพียงพอที่จะทำอาหารค่ำให้ลูกหลานตัวเอง เรารู้สึกท้อแท้ไร้ความหวังเช่นเดียวคนอื่น ๆ รอบตัว เราได้ยินข่าวว่าการปิดเมืองนั้นจะจบสิ้นลงแล้วเร็ว ๆ นี้ ทว่าแทบไม่มีใครเชื่อเลย

บทบาทสำคัญที่สุดของผมในฐานะที่เป็นผู้สมัครอิสระในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ก็คือการนำความหวังกลับไปให้ทุกท่าน และร่างภาพหนทางข้างหน้า ซึ่งจะเป็นวิธีการเชิงรุก และจะไม่เสียเวลาไปกับความต้องการลม ๆ แล้ง ๆ ที่นับวันจะทวีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จากพวกหิวเงินและหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐบาลที่พวกเขาบงการอยู่เบื้องหลัง

ผมอยากจะพูดถึงกระแสนิยมสามอย่างในอเมริกาที่เป็นเหตุให้เกิดรัฐชาติอันน่าสิ้นหวังเช่นนี้ มันเป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าตนเองนั้นไร้อิสรภาพ ไร้อำนาจ ดังนั้นเราจึงถูกโยนและถูกทุบตีด้วยอำนาจที่มองไม่เห็น เรารับรู้ถึงสายธารของอำนาจอันคลุมเครือ อยู่เบื้องหลังภาพฉากที่ปรากฏอยู่ตามห้างสรรพสินค้า ในห้องนั่งเล่น และในที่ทำงาน

สามกระแสที่ปล้นอิสรภาพของพวกเรา ที่ปลดริบความมั่นใจในการกระทำของพวกเราไป นั่นคือ “ขบวนการนิยม” “ความนิยมก่นด่า,” และ “การนิยมผู้วิเศษ”

คำเหล่านี้เป็นคำที่เราไม่คุ้นเคย และอาจจะฟังดูค่อนข้างน่าตกใจ แต่มันสมควรจะเป็นคำที่ไม่คุ้นเคยและน่าตกใจ นั่นก็เพราะเราต้องการปลุกให้ผู้คนได้ตื่นขึ้นมา เขย่าให้พวกเขาตื่นจากอาการเคลิ้มหลับอยู่ในขณะนี้ เพื่อที่เราจะได้ช่วยกันคิดหาทางให้กับตัวเองอีกครั้ง ซึ่งนั่นก็เพื่อจะได้เชื่อกันจริง ๆ ว่าพวกเราทุกคนนั้นสามารถที่จะเปลี่ยนโลกนี้ได้จริง ๆ

แทนที่จะให้ผมเล่าเรื่องซ้ำซาก จะมีประโยชน์กว่าถ้าให้ผมพูดให้ท่านสะเทือนตะลึงก็คือ สิ่งต่าง ๆ นั้นสามารถทำให้ดีขึ้นได้ ถ้าเราเปลี่ยนแปลงข้อผิดพลาดเพียงไม่กี่อย่างเท่านั้นเอง

ปัญหาแรกคือ “ขบวนการนิยม”

“ขบวนการนิยม” หมายถึงการจัดตั้งอย่างเป็นระบบของการเคลื่อนไหวขนาดใหญ่ ที่เป็นการรวมตัวกันของประชาชน การระดมทุน และการสร้างกิจกรรมรณรงค์เพื่อล่าลายเซน พร้อมทั้งรวบรวมการรับรองสนับสนุนต่าง ๆ สำหรับหาแนวร่วมหรือผลักดันนโยบาย ขบวนการนิยมนั้นมุ่งไปที่การเปิดโปง การสร้างภาพและการเรียกร้องความสนใจจากประชาชนผู้ถูกกดทับและถูกพรากกำลังใจให้หดหายไป ผ่านสื่อหนังสือพิมพ์หรือโซเชียลมีเดียที่หวังกำไร

เหล่าแกนนำของการเคลื่อนไหวต่างได้รับการสนับสนุนในสื่อการตลาดที่รับใช้นายทุน ที่ซึ่งพวกเขาตีพิมพ์หนังสือ และพบปะพูดคุยกับนักการเมือง นักร้องดัง ราชนิกูลผู้มีชื่อเสียง หรือคนดังคนอื่น ๆ

ตัวอย่างที่ดีที่สุดของขบวนการนิยมนั้น สามารถเห็นได้จากการประท้วงไม่เห็นด้วยกับการทำสงครามอิรักในปี 2002 ซึ่งเป็นความพยายามที่จะพูดถึงปัญหาการทารุณทางเพศต่อผู้หญิง ผ่านความเคลื่อนไหว “ฉันด้วย” (Me Too) และการขับเคลื่อนเพื่อสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศจากกิจกรรมรณรงค์ของเกรต้า ธูนเบิร์ก

กิจกรรมเหล่านี้กินเวลามาก พวกเขาขยันสร้างเนื้อหาสำหรับโพสต์ในเฟซบุ๊ค ซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล การเคลื่อนไหวเหล่านี้สร้างภาพประทับขึ้นมาว่าอะไรบางอย่างได้สำเร็จลุล่วงไปแล้ว ทว่าในความเป็นจริงพวกเขาสร้างผลลัพท์ให้เกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น พวกเขาก็แค่มักจะดึงความสนใจไปจากคนที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจและมีความสามารถมากกว่าในการจัดการทำสิ่งเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพจริง ๆ เท่านั้นเอง

กลุ่มคนเหล่านั้นที่หมกมุ่นอยู่กับ “ขบวนการนิยม” มักจะเป็นพวกใจซื่อ แต่ไม่ระลึกนึกรู้ถึงความไม่มีประสิทธิภาพในการกระทำของตนเอง

การประท้วงต่อต้านแผนการของสหรัฐอเมริกาในสงครามอิรัก ที่เริ่มต้นในเดือนกันยายน 2002 นั้น เป็นการตัวอย่างของขบวนการนิยมอันคลาสสิค แน่นอนว่าการประท้วงต่อต้านสงครามนั้นเป็นสิ่งน่าประทับใจ ที่ว่ากันว่าเกิดขึ้นมาจากการรวมตัวกันของการประท้วงของผู้คนจำนวนมหาศาลเป็นประวัติการณ์ที่เกิดพร้อมกันในที่ต่าง ๆ ทั่วโลก

อีกทั้งยังมีข้าราชการหลายร้อยคน รวมถึงนักการเมืองไม่กี่คนที่กล้าหาญพอจะก้าวออกมาคัดค้านรัฐบาลของบุช ทว่าความพยายามอันน่าประทับใจเหล่านั้นกลับไม่มีอันไหนเลยที่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการหยุดยั้งสงครามที่รังแต่จะทวีความมั่งคั่งให้กับชนชั้นนำเพียงไม่กี่คนได้เลย ระเบิดถูกทิ้งต่อไปอย่างต่อเนื่องโดยไร้การคัดค้านต้านทานใด ๆ และความขัดแย้งก็ยังคงดำเนินมาจวบจนถึงปัจจุบันนี้

นี่มันเกิดอะไรขึ้น? มันเป็นไปได้อย่างไรที่ท่านปล่อยให้คนมากมายทำการประท้วง ทว่าคนรวยและมีอำนาจไม่กี่คนกลับยังคงสามารถทำการติดสินใจอันแสนอันตรายออกไป โดยยังได้รับการละเว้นโทษ?

ทำไมถึงมีการถเถียงในเรื่องสำคัญอย่างยิ่งนี้เพียงน้อยนิด ถึงเหตุผลว่าทำไมการประท้วงเหล่านี้ถึงได้พังไปอย่างน่าสิ้นหวัง?

เราถูกต้มกันถ้วนหน้า กับความคิดที่ว่าการได้รับความสนใจจากสื่อนั้นเป็นสิ่งสำคัญจำเป็น ข้อสันนิษฐานหลักของวิธีคิดแบบ ‘ขบวนการนิยม’ ก็คือถ้าคนจำนวนมาก ล่วงรู้ความจริง บางทีนั่นอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อกระบวนการตัดสินใจของพวกชนชั้นนำก็เป็นได้ แต่ไม่มีใครเลยที่จะคิดได้ว่า มันเป็นไปได้ที่ว่าพวกมหาเศรษฐีนั้นมีระบบการสร้างมูลค่าให้กับตัวพวกเขาเอง พร้อมทั้งกีดกันพวกเราออกไปแล้วโดยสิ้นเชิง

สื่อต่าง ๆ บอกเราว่า จะต้องให้ความสนใจต่อต้นตอของปัญหานั้น และต้องได้รับการสนับสนุนจากพวกคนดังด้วย นั่นก็เพื่อที่จะเป็นการเคลื่อนไหวอันชอบธรรม แต่เรากลับลืมไปว่าความเป็นคนดังนั้น ก็เป็นสิ้นค้าอย่างหนึ่งที่สื่อเหล่านั้นผลิตสร้างขึ้นมาขายให้กับเรา

ขบวนการนิยม เป็นกระบวนการที่พลเมืองถูกทำให้หลงเชื่อว่าการกระทำของพวกเขามีคุณค่าในสื่อกระแสหลัก และสื่อสังคมโซเชียลเน็ตเวิร์กที่มีขึ้นมาเพื่อหวังสร้างกำไรไม่ใช่สื่อช่วยโลกแต่อย่างใด รายได้ของพวกเขาถูกสร้างขึ้นมาจากเนื้อหาต่าง ๆ ที่โปรโมทเสนอเพื่อเพิ่มปริมาณการเข้าดูของคน ความสำเร็จในเป้าหมายใหญ่นั้น ไม่ได้อยู่ในความสนใจของพวกสื่อทุนนิยมขนาดใหญ่เหล่านี้หรอก

กิจกรรมที่จะถูกโปรโมทอย่างกว้างขวางโดยสื่อทุนนิยมฉ้อฉลเหล่านั้น ต้องไม่ใช่กิจกรรมที่ส่งผลกระทบการทำกำไรของพวกเขา นั่นหมายความว่าการเคลื่อนไหวที่ได้รับการสนับสนุนจากสื่อเหล่านั้นไม่อาจจะปลดแอกจากการพึ่งพาทางเศรษฐกิจได้ พวกเขาจึงไม่สามารถดึงความสนใจไปจากเรื่องเล่าของเหล่าวีรบุรุษที่ถูกนำเสนอโดยสื่อหวังกำไรจากบรรษัทต่าง ๆ เหล่านั้นได้

“ขบวนการนิยม” เป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนวัฒนธรรมมบริโภคนิยม และลัทธิแห่งการสรรเสริญตัวตน เป้าหมายของ “ขบวนการนิยม” คือการสร้างการตระหนักรู้ถึงการมีอยู่ของตัวบุคคล ทว่านั่นไม่ใช่การจัดตั้งกลุ่มก้อนของคนที่มีความมุ่งมั่นแรงกล้าเพื่อที่จะแก้ไขต้นตอของปัญหา

พวกเราหลายคนคิดกันไปเองว่า ก่อนจะเริ่มการเคลื่อนไหวใด ๆ ต้องใช้เงินจำนวนมาก ต้องมีสื่อให้ความสนใจ และต้องได้รับการหนุนหลังจากคนดังเสียก่อน เราถูกสอนให้เชื่ออย่างนั้น

รู้ไว้เถอะว่าท่านไม่ใช่ผู้ใช้เฟซบุ๊คหรือทวิตเตอร์ แต่ท่านคือสินค้าที่ถูกขายไปให้กับบรรษัทที่เป็นลูกค้าของสื่อเหล่านั้นต่างหาก

อะไรล่ะ คือสิ่งที่ลูกค้าบรรษัทเหล่านั้นของเฟซบุ๊คและทวิตเตอร์ต้องการจากท่าน เมื่อพวกเขาซื้อพวกท่านไปน่ะหรือ? พวกเขาต้องการให้ท่านคิดว่าตนเองกำลังทำอะไรบางอย่างที่สำคัญทว่าไม่ใช่สิ่งที่จะก่อให้เกิดผลกระทบเปลี่ยนแปลงจริง ๆ

ถ้าอย่างนั้น การเคลื่อนไหวที่แท้จริงมันเป็นอย่างไรกันแน่?

เราลองมาย้อนนึกถึงขบวนการต่อต้านการใช้แรงงานทาสในช่วงปี 1850 ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ และปรับปรุงสถานะความเป็นอยู่ของผู้คนจำนวนมหาศาล การต่อต้านการใช้แรงงานทาสเป็นการเคลื่อนไหวขนาดใหญ่ที่ผสานพลังของผู้คนในองค์กรจัดตั้งระดับท้องถิ่นที่พวกเขาได้พบปะหารือกันจริง ๆ เพื่อถกเถียงเรื่องนโยบาย เพื่อสนับสนุนให้เกิดปฏิบัติการอันรุนแรงถึงรากถึงโคน มันเป็นขบวนการที่มีปฏิบัติการต่าง ๆ อย่างเช่นเหตุการณ์เส้นทางอิสรภาพของทาส ที่สมาชิกของขบวนการพากันเสี่ยงชีวิตของตนเองพยายามที่จะลักลอบช่วยเหลือชาวแอฟริกันอเมริกันให้หลบหนี และช่วยให้พวกเขาที่ขณะนั้นก็ก่อการต่อสู้ภายในฟาร์มเพาะปลูกอยู่แล้ว มีเพียงไม่กี่คนของผู้เสียสละที่ได้รับการบันทึกไว้ แต่ขบวนการดังกล่าวกลับเติบโตมีพลังยิ่งใหญ่มากขึ้น

เหล่าสมาชิกผู้รวมตัวจัดตั้งเป็นสถาบันขึ้นมามีความผูกพันธ์กันจนชั่วชีวิต พวกเขาไม่ได้หมกมุ่นอยู่กับการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง หรือส่งต่อเอกสารไปทอด ๆ เพื่อล่าลายเซน พวกเขารู้ว่ากิจกรรมที่แลดูช่างไร้พิษภัยเช่นนั้นจะไม่ก่อให้เกิดสิ่งใดเพื่อที่จะหยุดยั้งอาชญากรรมของการใช้แรงงานทาสได้ สำหรับพวกเขาแล้วไพ่ใบที่ดีที่สุดไม่ใช่มาจากการสนับสนุนของผู้ใจบุญร่ำรวยอย่างเฟซบุ๊ค ทว่าคือความยินยอมพร้อมใจที่จะสละชีพเพื่อประโยชน์ที่แท้จริงต่างหาก

เฟรดเดอริก ดักลาสผู้เป็นนักกิจกรรมนำการต่อต้านการค้าทาส ได้เขียนบอกเหตุผลว่าทำไมชาวแอฟริกันอเมริกันจึงต้องต่อสู้ขัดขืน ไม่ว่าพวกเขาเหล่านั้นจะต้องการหรือไม่ก็ตาม โดยเขาเขียนไว้ว่า

การต่อสู้ขัดขืนนั้นอาจจะอยู่ในรูปของการกระทำทางความคิด หรือเป็นการแสดงออกทางพฤติกรรม หรืออาจจะเป็นได้ทั้งสองอย่าง ทว่ามันจะต้องเป็นการขัดขืน อำนาจไม่อาจถูกยอมรับได้หากปราศจากความต้องการ มันไม่เคยเป็นอย่างนั้นและจะไม่มีวันเป็นเช่นนั้น ลองนึกดูสิว่าอะไรคือสิ่งที่พวกคนจะสยบยอม แล้วท่านจะเห็นมาตรวัดที่แท้จริงของสิ่งที่เรียกว่าความอยุติธรรมและไม่ถูกต้องที่กระทำต่อพวกเขา และสิ่งเหล่านี้ก็จะยังคงดำเนินต่อไปจนกระทั่งพวกเขาจะลุกขึ้นต่อต้าน ไม่ว่าจะด้วยถ้อยคำหรือด้วยลูกระเบิด หรือจะด้วยทั้งสองอย่าง ขีดจำกัดทางอำนาจของพวกทรราชนั้นขึ้นอยู่กับความอดกลั้นของผู้คนที่พวกเขากดทับนั่นเอง

ไม่ว่าจะเป็นขบวนการยึดวอลล์สตรีท (Occupy Wall Street) ขบวนการเฟอร์กูสัน (Ferguson) หรือการประท้วงต่อต้านการกดขี่ในเรือนจำเอกชน การต่อต้านขัดขืนเหล่านี้ต่างกำลังเกิดขึ้น เป็นการต่อต้านที่ไม่มีคนดัง ไม่มีคำกล่าวเปิดรื่นหูจากผู้สนับสนุนจากสังคมพวกนักธุรกิจ

ปัญหาที่สองของการเมืองอเมริกันก็คือ “การนิยมก่นด่า” ซึ่งก็คือพฤติกรรมทีเกิดขึ้น โดยเฉพาะในงานด้านสื่อสารมวลชน และยังรวมถึงในบทสนทนาของพวกเรากับเพื่อนและครอบครัวด้วย คือการบ่นอย่างไม่หยุดหย่อนถึงสิ่งผิดปกติในประเทศสหรัฐอเมริกาและสิ่งที่ไม่ยุติธรรม แต่ไม่ได้ให้การวิเคราะห์ในเชิงลึกแต่อย่างใด ไม่มีทางออกที่แน่ชัดต่อสิ่งไม่ปกติที่เกิดขึ้นนั้น ไม่มีคำแนะนำเพื่อให้คนฟังได้สามารถหาทางช่วยเหลือได้ต่อไป

การสื่อสารของสื่อแบบนั้นรวมถึงการถกเถียงทางการเมืองได้ลดทอนกำลังใจของพลเมือง เราถูกทำให้มองเห็นหายนะ และถูกทำให้เชื่อว่าเราเองนั้นไม่ได้มีทางเลือกอื่นใดอีกนอกจากความสิ้นหวัง ช่วยไม่ได้เลยที่เราอาจจะรู้ว่าพวกคนมีอำนาจนั้น รู้สึกปลื่มปริ่มแค่ไหนกับสิ่งที่เรียกว่า “การก่นด่า” อย่างไม่ย่อท้อนี้

วิกฤติการเมืองถูกทำให้ย่ำแย่ลงไปอีกเพราะสื่อทางเลือกเองก็ไม่ได้เสนอโอกาสเพื่อให้มีการลงมือปฏิบัติเช่นกัน พวกเขาอาจจะรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง ทว่าก็กลับไม่ได้เสนอแนวทางให้เราได้กลับไปยังชุมชนตนเอง เพื่อถกประเด็นปัญหาและหาทางดำเนินการต่อไปด้วยความสมัครสมานของกลุ่ม ท่านไม่ได้ถูกสอนให้เป็นเหมือนพวกธุรกิจผูกขาดอย่างอเมซอน เฟสบุ๊ค ไวอาคอม หรือไมโครซอฟท์

สื่อสารมวลชนในแบบ “นิยมก่นด่า” นั้นมุ่งสนใจแต่เพียงตัวปัญหาเพียงไม่กี่คนอย่างโดนัล ทรัมป์ จอร์จ ซอรอส หรือ เจฟฟ์ เบโซส โดยมักจะแนะนำว่าถ้าพวกเขาเหล่านี้มีความเป็นห่วงเป็นใย และกระจ่างรู้มากกว่านี้ ปัญหาเหล่านั้นก็คงจะแก้ไปได้

ไม่มีการวิเคราะห์ใดถึงการที่โครงสร้างของเศรษฐกิจนั้นสนับสนุนให้เกิดความโลก และการแสวงหาผลประโยชน์ หรือการควบคุมทางการเงิน การผลิต และการค้าโดยคนเพียงไม่กี่คนที่จะกำหนดสภาพเศรษฐกิจที่แท้จริงได้

เรามีบุคคลสาธารณะผู้ถูกนำเสนอในสื่อว่าเป็นนักคิดอิสระ แต่ก็เป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์กับบรรษัทที่ร่ำรวยมาจากการทำสงคราม หรือการกระตุ้นให้มีการใช้พลังงานฟอสซิล ผ่านบัญชีเกษียณและพอร์ตการลงทุน ความเชื่อมโยงนี้ยังคงเป็นสิ่งต้องห้ามที่ยากที่จะนำมาถกเถียงได้

ความสัมพันธ์อันผิดแผกระหว่างคนมีการศึกษาที่ควรจะลุกขึ้นต่อสู้เพื่อประโยชน์ส่วนรวม แต่กลับทำงานเป็นสุนัขรับใช้ และบรรษัทเหล่านั้นก็คือเหตุผลว่าทำไมการวิพากษ์วิจารณ์ของพวกเขาจึงตื้นเขินและไม่มีประโยชน์ใด ๆ

หากเราจัดตั้งกลุ่มที่มีประสิทธิภาพที่ยึดมั่นต่อกันและกัน เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายร่วมกัน เราจึงสามารถที่จะเริ่มเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจและการเมืองได้ แนวทางเช่นนั้นไม่เคยมีสื่อมวลชนในแบบ “นิยมก่นด่า” ใดเสนอแนะขึ้นมาเลย

การก่นด่าในสื่อไม่อาจแยกออกจากความเสื่อมถอยอย่างถึงที่สุดในบทสนทนาของปัญญาชนอเมริกัน การวิเคราะห์ในสื่อ ในมหาวิทยาลัย และในกลุ่มองกรณ์คลังสมองนั้นก็ปราศจากซึ่งการพินิจพิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์อย่างจริงจัง หากเราพูดถึงทำเนียบขาวหรือสภาคองเกรส ก็จะไม่มีการพูดคุยใด ๆ เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของสถาบันองค์กรเหล่านั้น หรือแม้แต่คำอธิบายถึงบทบาทหน้าที่การทำงานของพวกเขา พวกซีไอเอหรือกูเกิลก็ถูกอธิบายไว้ราวกับว่าเป็นหนึ่งองค์กรเดียวกันกับที่พวกสถาบันเหล่านั้นเคยเป็นเมื่อสิบหรือยี่สิบปีก่อน โดยที่ไม่ได้พูดถึงสักคำถึงการทำงานภายในองค์กรหรือความเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางการเงิน

การขาดหายไปซึ่งบริบททางประวัติศาสตร์นั้น ทำให้ผู้อ่านมีเพียงข้อมูลด้านลบเพียงไม่กี่อย่าง หากปราศจากความเข้าใจในเชิงลึกในประเด็นปัญหาหรือแผนกลยุทธิ์เสียแล้ว เราจะไม่มีทางรู้หรอกว่าควรจะเดินต่อไปทางไหนดี

ปัญหาสุดท้ายก็คือ “ความนิยมในผู้วิเศษ” หรือการสนับสนุนให้มีผู้วิเศษในการเมือง

ข้อสันนิษฐานในบทสนาทนาก็คือว่า เราต้องเลือกหรือเดินตามใครสักคนที่เป็นคนพิเศษ และถ้าคน ๆ นั้นมีอำนาจมากพอแล้วล่ะก็ ปัญหาของพวกเราก็จะได้รับการแก้ไขไปเอง

มีการสรุปเดาไปว่าบทบาทเดียวของเราในฐานะพลเมืองก็คือการออกเสียงให้กับผู้วิเศษในเดือนกันยายน แล้วหลังจากนั้นเราก็กลับไปใช้ชีวิตของตนเอง และปล่อยให้ทุกอย่างอยู่ในมือของผู้วิเศษ เพื่อให้เขาได้แก้ไขปัญหาแก่พวกเราต่อไป

วาทกรรมความเป็น “ผู้วิเศษ” นั้นถูกนำมาใช้สร้างแรงกระเพื่อมได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะในสมัยการรณรงค์หาเสียงของบารัก โอบามา ซึ่งมุ่งเน้นไปรอบๆ สโลแกน “เปลี่ยน” และได้รับการประชาสัมพันธ์ไปอย่างล้นหลามโดยเหล่าบริษัทโฆษณาที่พรรคเดโมแครตจ้างให้ทำงาน

การสนับสนุนทุนจากบรรษัทเหล่านั้น กระตุ้นให้เกิดความคิดที่ว่า หากเพียงเราสนับสนุนโอบามาผู้ปราดเปรื่องและเป็นผู้นำทางการเมืองที่สามารถเป็นปากเป็นเสียงคนนี้ เขาจะเป็นคนเปลี่ยนประเทศสหรัฐอเมริกา หรือพูดอีกอย่างคือ ผู้ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง หลังจากเหตุอาชญกรรมขนานใหญ่ที่เกิดในช่วงรัฐบาลคลินตันและบุชได้ ก็ต้องเป็นพรรคเดโมแครตเท่านั้น

นี่เป็นการโกหกหน้าด้าน ๆ ทางออกสำหรับแก้ไขปัญหาคอรัปชั่นใดๆ ของสถาบันต่าง ๆ นั้น จะต้องให้พลเมืองมีส่วนร่วมในทุกระดับ เพื่อที่จะเริ่มวางแผนสำหรับการปัดกวาดทำความสะอาดที่อันตรายทว่าจำเป็นนี้ไปได้

แต่สำหรับโอบามาแล้วอะไรก็ดูง่ายไปเสียหมด สิ่งที่เราต้องทำคือไปลงคะแนนเสียงให้เขา และบอกเล่าให้คนอื่น ๆ เชื่อถึงสิ่งยิ่งใหญ่ที่เขาจะทำต่อไป

แต่หลังจากนั้น รู้ไหมว่าโอบามาที่เป็นผู้นำแห่ง “การเปลี่ยนแปลง” อันแสนจะเท่และสุขุมนั้น กลับเร่งรี่ไปช่วยเหลือธนาคารพานิชย์และยื่นมือออกไปผ่าตัดเปลี่ยนแปลงระเบียบข้อบังคับทางการเงินเพื่อเป็นรางวัลให้แก่เหล่าผู้สนับสนุนของเขา ซึ่งก็คือกลุ่มผลประโยชน์ทางการเงินที่ช่วยซื้อพื้นที่สื่อให้เขานั่นเอง

แคมเปญจน์ของเบอร์นี่ แซนเดอร์สร้างแรงจูงใจจากมวลชนได้อยู่บ้าง ทว่าเขาก็เช่นกันที่ถูกนำเสนอให้เป็นผู้วิเศษที่จะมาแก้ไขปัญหาให้กับพวกเรา การรณรงค์หาเสียงของเขาใช้เงินที่มาจากกลุ่มคนทำงานที่จ่ายให้กับบริษัทโฆษณาราคาแพง เพื่อให้เขาสามารถเข้าร่วมการเลือกตั้งผู้สมัครรอบแรก เขาอาจจะมีความตั้งใจดี แต่แคมเปญจน์ของแซนเดอร์นั้นไม่ได้ทุ่มเทให้กับการก่อตั้งสร้างองค์กรของประชาชนในระยะยาวตั้งแต่แรก องค์การจัดตั้งที่ว่านั้นอาจจะช่วยทำให้ประชาชนพลเมืองได้กลายเป็นผู้ที่มีความเหมาะสมทางการเมือง และนั่นจะทำให้พวกเขาสามารถทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง จะว่าไปพรรคเดโมแครตก็ไม่ต่างจากพรรครีพับลิกัน ที่บ่มเพาะให้ประชาชนกลายเป็นคนที่ต้องพึ่งพาพวกเขา นี่คือสิ่งที่พวกเขาทำ หากจะขอให้พวกเขาทำสิ่งที่ต่างไปจากนี้แล้วล่ะก็ ก็ไม่ต่างอะไรจากการขอร้องให้เสือกลายเป็นพวกวีแกนนั่นแหละ

หนังสือ “Diminished Democracy: From Membership to Management in American Civic Live” ของศาสตราจารย์ธีดา สก๊อคพาล อธิบายถึงการที่ชาวอเมริกันนั้นถอยห่างจากการมีส่วนร่วมจากองค์กรท้องถิ่นอย่าง YMCA กลุ่ม Masons กลุ่มทหารผ่านศึกษาในสงครามต่างแดน หรือกลุ่ม Lion’s Club ที่พวกเขาบริหารดำเนินงานในแนวทางประชาธิปไตยอยู่เป็นประจำ

อย่างไรก็ตาม กว่าห้าทศวรรษที่ผ่านมา วัฒนธรรมการเมืองแบบมุ่งบริหารจัดการได้เข้ามาแทนที่การเมืองแบบมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งเป็นเหตุของการร่วงลงสู่หายนะของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยและความโปร่งใส การหายไปของการมีส่วนร่วมของประชาชนเปิดทางให้กับวัฒนธรรมการเมืองอันไร้ความน่าเชื่อถือและคลุมเครือทุกวันนี้

ผมขอถามว่า ท่านเคยได้รับเชิญจากพรรคเดโมแครตหรือพรรครีพับลิกันให้ไปร่วมงานที่เขาจะถามความคิดเห็นจากท่าน หรืออนุญาตให้ท่านเข้าร่วมในกระบวนการเมื่อพวกเขากำหนดนโยบายต่าง ๆ หรือไม่?

เราจะไม่ยอมพ่ายแพ้ให้แก่ความฉาบฉวยของการมีส่วนร่วมทางการเมืองในอเมริกา ด้วยการเขียนโพสต์บนเฟซบุ๊คหรือบ่นด่าว่าโดนัลด์ ทรัมป์นั้นฉ้อโกงอย่างไร เราไม่สามารถสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองที่ดีขึ้นมาได้ด้วยการซื้อเวลาออนแอร์ในทีวีให้กับนักการเมือง เราต้องสร้างสถาบันที่ทรงพลังที่ก่อร่างสร้างตัวมาจากประชาชนในระดับท้องถิ่น ที่ทำงานทุกวันร่วมกับประชาชนทุกคน เราต้องมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง นั่นหมายถึงการปิดอินเทอร์เน็ต ออกไปเคาะประตูเพื่อนบ้าน และกลับไปสู่พฤติกรรมการพูดคุยกับเพื่อนฝูงเกี่ยวกับประเด็นที่เป็นปัญหาจริง ๆ จะไม่มีใครต้องทำงานนั้นแทนเราอีกแล้ว

โอะงิว โซะไรนักปรัชญาชาวญี่ปุ่นเขียนไว้ว่า

“ในเกมหมากรุก มีสองวิธีด้วยกันที่จะได้เป็นปรมาจารย์ หนึ่งคือเรียนรู้ทุกกลยุทธ์ของการเล่น ตั้งแต่เริ่มจนจบ รวมถึงมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ซึ่งจะช่วยเราได้ในทุกก้าวเดินบนกระดาน ความชำนาญคือสิ่งที่เรารู้จักมักคุ้น ทว่ามีอีกทางหนึ่งที่จะได้เป็นปรมาจารย์ได้ นั่นก็คือการสร้างกฎการเล่นหมากรุกขึ้นมาเอง”

โอกาสสำหรับความเป็นไปได้ที่จะสร้างกฎ หรือการสร้างวัฒนธรรมการเมืองใหม่ขึ้นมานั้น ริบหรี่และห่างไกล แต่วิกฤติการเมืองปัจจุบันในสหรัฐอเมริกานั้นช่างหยั่งลึกลงไปแล้วอย่างเต็มขั้น ความอันตรายอันน่ากลัวที่มันเผยออกมานั้นช่างชัดเจน มันได้เปิดโอกาสอันหาได้ยากนี้แล้ว สำหรับการพลิกเปลี่ยนประเทศ ผมจะไปไกลถึงขึ้นที่จะบอกว่า เราไม่มีทางเลือกอื่นอีกต่อไป นอกจากเอาตัวเองเข้าไปร่วมในสนามแห่งการต่อสู้

--

--